ในโลกของกาแฟ ไม่ได้มีแค่เส้นทางเดียวที่พาไปสู่ความสำเร็จ บางคนเปิดร้าน บางคนทำโรงคั่ว และบางคนเป็นเทรนเนอร์ หรือที่ปรึกษากาแฟ “Thailand Coffee Fest 2025: Drink Better Coffee” เทศกาลกาแฟที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งวงเสวนา “From National to World Stage: เส้นทางบาริสต้าไทยบนเวทีโลก” พาไปพูดคุยกับบาริสต้าสายแข่งขัน ผู้เลือกเดินบนเส้นทางที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ตั้งแต่เวทีระดับประเทศจนถึงระดับโลก ผ่านมุมมองของ 4 แชมป์คนไทย ซึ่งเปลี่ยนสนามแข่งให้กลายเป็นพื้นที่ของการเติบโต การเรียนรู้ และแรงบันดาลใจ ได้แก่

- บอส – ฉัตรเฉลิม เลิศเอนกวัฒนา แชมป์โลกรายการ World Cup Tasters Championship 2025
- แบงค์- ศราวุธ หมั่นงาน แชมป์รายการ Thailand National Latte Art Championship 2024, 2025
- นิกส์-นฤพนธ์ วุฒิภาพภิญโญ แชมป์รายการ Thailand National Coffee Roasting Championship 2025
- บอม-กฤตนัย คงธนารักษ์ แชมป์รายการ Thailand National Brewers Championships 2025
จุดเริ่มต้นและความท้าทายบนเส้นทางสู่แชมป์
จุดเริ่มต้นของบาริสต้าทั้ง 4 คน เริ่มจากความอยากรู้ อยากเก่งขึ้น และพิสูจน์ตัวเองว่า “เรายืนอยู่ตรงไหนในวงการนี้” ซึ่งกว่าจะไปยืนอยู่บนเวทีระดับโลกได้ ต้องฝึกซ้อมอย่างหนัก แบกรับความกดดัน และมีการวางแผนที่ดี เพราะความต่างของแต่ละเวทีไม่ได้อยู่แค่ความยากของโจทย์ แต่รวมถึงความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นด้วย และทีมที่ดีคือ เบื้องหลังความสำเร็จของทุกคน
บอม-กฤตนัย เล่าว่า ตอนลงแข่งปีแรกมองเป็นเรื่องสนุก พอทำคะแนนได้ไม่ดีก็อยากแข่งต่อ ซึ่งทุกครั้งที่แข่งรู้สึกว่าได้เปลี่ยนแปลงตัวเองไปทีละนิด จนเริ่มติดใจความรู้สึกแบบนั้น จึงฝึกฝนมาเรื่อย ๆ และได้แชมป์ประเทศไทยไปแข่งในระดับโลก ตอนนั้นเครียดเหมือนกัน โดยเฉพาะช่วงก่อนแข่งขันหนึ่งสัปดาห์กดดันที่สุด จากความท้าทายในการเลือกใช้กาแฟให้เหมาะสมที่สุด เพราะมีปัจจัยแวดล้อมหลายที่อาจส่งผลกระทบได้ เช่น ความชื้น แม้จะซ้อมมาเหมือนทุกสิ้นเดือนเป็นวันแข่งขันจริง แต่ก็ไม่เหมือนกันเลยบนเวทีจริง ทำให้ต้องปรับสูตรทุกวัน ซึ่งโชคดีที่มีทีมงานคอยอยู่ข้าง ๆ ช่วยให้ความเห็นแชร์มุมมอง ทำให้อยู่กับสติ ช่วยไม่ให้หลงทางเวลาชิมกาแฟ
ด้าน “แบงค์- ศราวุธ” เริ่มต้นตั้งแต่ยังเป็นบาริสต้าหน้าใหม่ ใช้เวลาสะสมประสบการณ์มาเกือบ 10 ปี กว่าจะเป็นแชมป์ลาเต้อาร์ทประเทศไทยสองสมัย บอกว่า ชอบการแข่งขัน เพราะมีความท้าทายและสนุก ถือเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ยังรักการชงกาแฟอยู่ แม้ปัจจุบันจะมีร้านของตัวเองแล้ว ซึ่งความยากในการไปแข่งในเวทีระดับโลกคือ ช่วงการฝึกซ้อม ที่ต้องมีวินัยและมีความสม่ำเสมอ ต้องพยายามก้าวข้ามความเบื่อให้ได้ เพราะการซ้อมเป็นการฝึกให้ร่างกายจดจำจนทำเป็นอัตโนมัติ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ส่วนบนเวทีแข่งขันไม่ได้รู้สึกกดดันมากนัก เพราะมีทีมที่ดีคอยช่วย ทำให้ไม่เหนื่อย สามารถใช้ประสิทธิภาพในการแข่งขันได้เต็มที่ ซึ่งทีมเป็นคนที่ทำให้ยังสนุกกับการแข่งได้แม้จะหนักแค่ไหนก็ตาม
ขณะที่ “นิกส์-นฤพนธ์” จากคนเบื้องหลังในทีมซัพพอร์ตสู่ผู้เข้าแข่งขันและคว้าแชมป์ประเทศไทยปีล่าสุด บอกว่า อยากพิสูจน์ตัวเองว่าเราจะไปอยู่จุดไหนในวงการกาแฟ และได้แรงบันดาลใจจากเพื่อน ๆ อีกทั้งการแข่งขันยังทำให้เราพัฒนาขึ้นทุกครั้ง ซึ่งความท้าทายในการแข่งขันระดับโลกมองว่าสิ่งที่สำคัญมากคือ การวางแผน ต้องปรับวิธีคิดให้เป็นไปตามโจทย์หลัก ส่วนที่เหลือจะเป็นเรื่องทักษะ แม้ตอนอยู่บนเวทีจะตื่นเต้นก็พยายามเชื่อมั่นในสิ่งที่ซ้อมมา และทำให้ได้ตามเป้าหมาย โดยความสำเร็จที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากคนเบื้องหลัง หรือการมีทีมงานที่ดีมาคอยเติมเต็มในสิ่งที่เราขาด เห็นได้ชัดจากการแข่งในปีแรกที่ไม่มีทีมคอยช่วย มุมมองของเราคนเดียวจะมีจำกัด แต่พอมีทีมทำให้ได้มองเห็นภาพกว้าง และช่วยดูรายละเอียดเล็ก ๆ ที่เราอาจมองข้ามไป
สำหรับแชมป์โลก Cup Tasters ปีล่าสุด “บอส – ฉัตรเฉลิม” ที่มีจุดเริ่มต้นจากความหลงใหลในรสชาติ บอกว่า เลือกลงแข่งขัน เพื่อพิสูจน์ตัวเอง เพราะเป็นคนพูดไม่เก่ง จึงอยากรู้ว่าจะสามารถใช้ทักษะเรื่องรสชาติ โดยไม่ต้องพรีเซนต์ในการแข่งขันได้หรือไม่ ซึ่งหลังจากได้แชมป์ในประเทศยอมรับว่ากดดัน เพราะต้องไปแข่งขันในฐานะป็นตัวแทนประเทศไทย ไม่ใช่การแข่งเพื่อตัวเอง จนช่วงแรกในการซ้อมฟอร์มตกมาก สุดท้ายบอกกับตัวเองว่าต้องโฟกัสกับสิ่งตรงหน้า มองแค่เป้าหมายเล็ก ๆ อย่าไปคิดถึงคำว่าแชมป์ และสิ่งที่คิดว่าสำคัญมากคือ การมีทีมที่ดี เพราะจะเป็นเหมือนมีกระจกสะท้อนให้สำรวจตัวเอง นอกจากช่วยเรื่องเทคนิคแล้ว ยังช่วยเรื่องจิตใจด้วย โดยเฉพาะบนเวทีที่ไม่มีทางรู้ว่าโจทย์จะออกอะไร ต้องซ้อมให้หลากหลายที่สุด ทีมคือคนคิดโจทย์ท้าทายให้เราทุกวัน
เวทีโลกให้ทั้งมิตรภาพ การเติบโต แรงบันดาลใจ และการแบ่งปัน
แม้ปลายทางของการแข่งขันคือ”ชัยชนะ” แต่สิ่งที่ทุกคนได้กลับมาจากเวทีโลก กลับมีกว่านั้นมาก ทั้งการได้พบเพื่อนใหม่จากหลากหลายประเทศ พร้อมแลกเปลี่ยนเทคนิคและทัศนคติที่ว่า “ทุกคนแข่งกับตัวเอง” ซึ่งที่น่าชื่นชมไม่แพ้ความสำเร็จ คือทุกคนอยากส่งต่อสิ่งที่ได้ให้กับคนรุ่นใหม่ ทั้งในรูปแบบเวิร์กช็อป การให้คำปรึกษา ไปจนถึงการเป็นโค้ชให้คนที่อยากแข่งขัน
บอส – ฉัตรเฉลิม มองว่า “การแข่งขันทำให้เราได้เจอเพื่อนจากทั่วโลก ทุกคนเฟรนลี่ ไม่ได้รู้สึกว่าแข่งกัน เราต่างแข่งกับตัวเอง โดยทุกคนทำสิ่งที่ซ้อมมาให้ดีที่สุด โจทย์การชงกาแฟที่เราซ้อมไม่น่าแตกต่างกัน แต่สิ่งที่ได้จากเวทีโลกคือ ความคิด การมีสติ โฟกัสในสิ่งที่กำลังทำให้ดีที่สุด ซึ่งเราดีใจที่ได้เป็นแรงบันดาลใจของคนกลุ่มเล็ก และอาจเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันให้คนรุ่นใหม่ในวงการกาแฟไทยเติบโต กล้าทำ กล้าฝัน โดยยินดีที่จะทำเวิร์กช็อป หรือเทรนนิ่งให้กับคนที่สนใจ”
เช่นเดียวกับ นิกส์-นฤพนธ์ บอกว่า การแข่งทำให้เรากลายเป็น “เวอร์ชันที่ดีขึ้น” ทั้งด้านเทคนิค ความคิด และการจัดการกับความเครียด นอกจากนี้ ยังมีมิตรภาพที่เกิดขึ้นในการแข่งขันและช่วยขยายสังคมกาแฟให้กว้างขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นแรงผลักดันคนรุ่นใหม่ให้ลองพิสูจน์ตัวเอง หรืออยากพัฒนาตัวเองให้ทุกคนเห็นว่าสามารถทำได้
ในขณะที่ แบงค์- ศราวุธ บอกว่า สิ่งที่ได้รับจากเวทีโลกคือ เราเก่งขึ้น แต่การได้เห็นแชมป์ของประเทศอื่นเพอร์ฟอร์มบนเวทีนั้นมีคุณค่ามาก ผมนั่งดูหมดทุกคน สิ่งเหล่านี้ไม่มีในยูทูป เป็นสิ่งที่ทำให้เราได้รับอิทธิพลและกลับมามองตัวเองใหม่ในการพัฒนาตัวเองรวมถึงทีมด้วย ผมอยากทำให้คนไทยกล้าลงแข่งลาเต้อาร์ทมากขึ้น เพราะจริง ๆ มีคนเก่งเยอะ แต่หลายคนมองเป็นเรื่องไกลตัว คิดว่าพูดไม่เก่งก็ไม่อยากแข่งขัน เพราะต้องพรีเซ็นต์ด้วย ซึ่งเขาอาจไม่เข้าใจวิธีการแข่งขันจริง ๆ ผมอยากทำเวิร์คช็อปให้เห็นว่าการแข่งขันลาเต้อาร์ทไม่ได้แตกต่างจากการแข่งขันอื่น ๆ
ปิดท้ายกับ บอม-กฤตนัย มองว่า สิ่งที่ได้จากการแข่งขันในเวทีระดับโลกคือ รู้สึกว่าตัวเองเก่งขึ้น ซึ่งอยากบอกว่าทุกคนชงกาแฟเก่งขึ้นได้ และควรชงกาแฟในแบบของตัวเอง แม้ตอนเริ่มต้นอาจคัดลอกสูตรจากคนอื่น แต่ก็สามารถเพิ่มเติมจากท่าไม้ตายไปได้เรื่อย ๆ ทำให้มีเส้นทางของตัวเองได้ แม้บาริสต้าหลายคนที่ทำงานในร้านและต้องใช้สูตรของร้าน แต่เมื่อมีโอกาสได้ชงกาแฟในสูตรที่คิดเองเชื่อว่าน่าจะมีความสุขมากกว่า ทุกวันนี้อยากให้ทุกคนแฮปปี้กับการชงกาแฟมากขึ้น และสุดท้ายแกนหลักของกาแฟคือ งานบริการ คงเป็นเรื่องน่าเสียดาย หากเราชงกาแฟได้ดี แต่ไม่สามารถสื่ออะไรสักอย่างไปให้คนกินได้
การแข่งขันอาจไม่ใช่เส้นทางที่เลือกเดินของบาริสต้าหลาย ๆ คน แต่หากอยากรู้จักตัวเองให้ลึกมากขึ้น เวทีแข่งขันคือ พื้นที่อิสระให้ทดลอง เรียนรู้ และเติบโต ซึ่งวงการกาแฟไทยกำลังพัฒนาไปอย่างมีความหมายจากคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่กล้าก้าวขึ้นไปยืนบนเวทีโลก พร้อมส่งต่อให้คนรุ่นถัดไป