ภาคธุรกิจในอาเซียนเชื่อมั่นพลังอาเซียน สร้างความแข็งแกร่งการค้าระดับภูมิภาค ทุกประเทศเตรียมพร้อมรับมือการค้าโลก ด้วยการประสานพลังภายในร่วมกัน

จากเวทีสัมมนา ASEAN Forum 2025 จัดโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (Thai Management Association หรือ TMA) ในหัวข้อ ASEAN in Unity : The Perfect Timing อาเซียนเป็นหนึ่ง: จังหวะเวลาที่สมบูรณ์แบบ และ The Next ASEAN Driving Force: Innovation & Technology: พลังขับเคลื่อนใหม่แห่งอาเซียน : นวัตกรรมและเทคโนโลยี ผู้นำธุรกิจและบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับภูมิภาค เชื่อมั่นพลังอาเซียนสามารถสร้างแรงกระเพื่อมและขับเคลื่อนภูมิภาคสู่ความแข็งแกร่งและยั่งยืน ทุกประเทศต้องเตรียมพร้อมโดยร่วมกันดึงประโยชน์จากนวัตกรรมและดิจิทัลเทคโนโลยี
นวัตกรรม-เทคโนโลยี พลังขับเคลื่อนเอเชีย
นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวในหัวข้อ “The Next ASEAN Driving Force: Innovation & Technology ว่า “โลกไม่เหมือนเดิม เราต้องพูดถึงโลกใหม่ สงครามภาษี พหุภาคี ซึ่งอาเซียนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของโลก ต้องสร้างมาตรฐานด้านเทคโนโลยี เช่น โมบายแบงกิ้ง ที่เราทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ไม่ใช่โลกาภิวัตน์ แต่เป็นระดับภูมิภาค
ประเทศไทยกำลังมุ่งหน้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมก้าวสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น Bitkub เริ่มธุรกิจเมื่อ 13 ปีก่อน เป็น Startup คลื่นลูกแรกของคริปโทเคอร์เรนซีที่ประสบสำเร็จทั้งด้านรายได้และกำไร โดยความสำเร็จดังกล่าวมาจากการมีกฎหมายและกฎระเบียบรองรับ มีการออกไลเซ่นส์ สินทรัพย์ดิจิทัล มีการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตและขยายตัวได้”นายจิรายุส กล่าวและเพิ่มเติมว่า
“ทั้งนี้ กลยุทธ์การสร้างการเติบโตของ Bitkub มาจากการพัฒนานวัตกรรมที่โดดเด่น ที่เอื้อกับระบบที่มีอยู่ เช่นต้องมีกฎหมายรองรับ เช่น ธุรกิจจองห้องพัก Airbnb ไม่ประสบความสำเร็จในไทย เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ หรือธุรกิจบริการของ Grab ที่เข้ามาจนคนนิยมก่อนแล้วกฎหมายตามมาทีหลัง ทำให้นักธุรกิจไทยไม่สามารถแข่งขันได้เพราะต้องรอกฎหมาย แล้วยังต้องมีการพัฒนาบุคลากรสายเทคโนโลยี เพื่อรองรับตลาดแรงงานที่กำลังเป็นที่ต้องการ
ขณะที่มุมมองเรื่อง “บล็อกเชน” เป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เมื่อเทียบกับ 20 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนข้อมูลจากที่อยู่บนกระดาษ มาอยู่บนแพลตฟอร์มในยุคดิจิทัล โดยในด้าน “มูลค่า” ต้องอยู่ในรูปแบบที่จับต้องได้ เช่น ทอง หรือ กรรมสิทธิ์ และพันธบัตรที่สามารถทำเป็นดิจิทัลได้ โดย “บล็อกเชน” สามารถทำเป็นสำเนาดิจิทัล ไม่ต้องจ่ายเงินซ้ำซ้อน รวมถึง “โทเคน” ซึ่งมูลค่าจะอยู่ในรูปแบบดิจิทัล”
อาเซียนดันดิจิทัลเสริมแกร่ง เกษตร อาหาร
มิสชาร์ล็อต โควารา (Ms. Charlotte Kowara) ประธานเจ้าหน้าที่พัฒนาศักยภาพองค์กร (Chief Empowerment Officer) บริษัท Accelerice ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า “อาเซียนเต็มไปด้วยความหลากหลาย ดังนั้นความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของประเทศนั้นๆ ด้วย อินโดนีเซียเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านเกษตรกรรม สิงคโปร์เป็นประเทศขนาดเล็กแต่เป็นเมืองอัจฉริยะ ในขณะที่บางประเทศมีข้อจำกัดเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นช่องว่างและโอกาส และเห็นว่ามีสัดส่วนกว่า 60% ของภูมิภาคมีความตื่นตัวในด้านดิจิทัล
การพัฒนาในภาคเกษตรกรรมของอินโดนีเซียให้ความสำคัญและมุ่งเสริมพลังให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อให้สามารถพัฒนาสินค้าไปสู่ผู้บริโภคได้ เช่นเดียวกับการเปลี่ยนวิธีการชำระเงินแบบเดิมสู่การชำระผ่านออนไลน์และแอปพลิเคชั่นในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งมีประชาชนเข้าถึงมือถือและแพลตฟอร์มมากขึ้น และพยายามเข้าถึงซัพพลายเชนและอี-คอมเมิร์ซได้มากขึ้น ทำให้ตลาดอี-คอมเมิร์ซในประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญคือระบบนี้สามารถตัดพ่อค้าคนกลางออกไป ทำให้ธุรกิจเติบโตได้มากขึ้น” มิสชาร์ล็อต กล่าวและเพิ่มเติมว่า
“ภาคเกษตรกรรมถือเป็นหนึ่งในความท้าทาย ซึ่งพบผลผลิตเสียหายสูงถึง 20% จากปัญหาด้านโลจิสติกส์ อินโดนีเซียเป็นประเทศขนาดใหญ่ จึงเห็นช่องว่างในการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพื่อลดการสูญเสีย ขณะเดียวกันก็ยังเห็นโอกาสอีกมากมายในอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร จากที่เห็นความก้าวหน้าในการพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ของประเทศไทย และหากได้รับความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ก็น่าจะสามารถพัฒนาอีโคซิสเต็มให้ผู้ประกอบการ SMEs มีสภาพแวดล้อมที่ดียิ่งขึ้นได้อีกด้วย”
ดึงประโยชน์จาก AI ยกระดับธุรกิจ
มร. ฮานโน สเต็กมานน์ (Mr. Hanno Stegmann) กรรมการผู้อำนวยการและพาร์ทเนอร์ BCG X ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “ดิจิทัลเทคโนโลยี ภาคเกษตร สร้างโอกาสในอีโคซิสเต็มของอุตสาหกรรมอาหาร โดยสามารถใช้ AI ช่วยวิเคราะห์ด้านความเสี่ยง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า อาเซียนยังต้องรับมือกับความไม่แน่นอนทั้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้าและการขึ้นภาษี โดยต้องช่วยจัดการปัญหาต่างๆ และแสวงหาโอกาสให้ลูกค้า ซึ่งจุดนี้เป็นข้อได้เปรียบของบริษัทที่บริษัทอื่นไม่มี โดยภาคธุรกิจต้องเร่งพัฒนาโดยดึง AI หรือ Gen AI เข้ามาในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่คุณค่า และทำความเข้าใจว่าปัญหาอยู่ตรงไหน มูลค่าที่ธุรกิจจะสามารถสร้างได้มากที่สุดอยู่ตรงไหน”
Start up ผลักดันนวัตกรรม
นางสาวอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด กล่าวว่า “บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับสตาร์ทอัพ เพราะกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นแค่ธุรกิจเล็กๆ แต่เป็นตัวเร่งขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรม สตาร์ทอัพไม่ได้แข่งกับธุรกิจดั้งเดิมแต่เป็นการพัฒนาให้มีการเติบโต ในอีโคซิสเต็มที่ต้องร่วมมือกันพัฒนา และเป็นเรื่องสำคัญเชิงกลยุทธ์เพื่อช่วยเพิ่มความมั่นคงให้ประเทศและเป็นเรื่องที่ต้องทำ โดยเห็นว่าปัจจุบันมีธุรกิจหลายเซ็กเตอร์ที่เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ เช่น ธุรกิจสุขภาพ ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่ที่โซลูชันที่ใช้ในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังใช้คาดการณ์อาการของผู้ป่วยก่อนล่วงหน้า โดยใช้ AI เข้ามาร่วมในการวิเคราะห์ วางแผน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งบริษัทมีจุดแข็งในการเตรียมความพร้อมและช่วยเพิ่มขีดความสามารถ ซึ่งขณะนี้ทั้งในเวียดนาม มาเลเซียและอินโดนีเซีย มีการทำงานร่วมกันของบริษัทสตาร์ทอัพ โดยบริษัทให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มสตาร์ทอัพ และบริษัทท้องถิ่นในไทย เป็นการทำงานร่วมกันของประเทศในอาเซียน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อม นวัตกรรมที่เชื่อมโยงกันโดยไม่แบ่งแยก” นางสาวอรนุช กล่าวสรุป