เกรียนไซเบอร์ ปี 2  ปลื้มใจ “วัยเกรียนอาชีวะ”

เกรียนไซเบอร์ ปี 2  ปลื้มใจ “วัยเกรียนอาชีวะ” รู้ – ใช้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์ถูกต้องเหมาะสม

“เกรียนไซเบอร์ฯ ปี 2” ดีใจเด็กอาชีวะวัยเกรียน ตระหนักรู้และใช้สื่อสังคมออนไลน์ทุกช่องทางอย่างถูกต้องและเหมาะสม   เผยผลที่เกิดขึ้นต่อพฤติกรรมดังกล่าวสืบเนื่องเชื่อมโยงจาก โครงการเกรียนไซเบอร์ ปี 2 ที่มีน้องๆ อาชีวะเข้าร่วมจำนวน 155 คน  จาก 20 สถาบัน ในพื้นที่ 9 จังหวัด   และได้ผลิตสื่อดิจิทัลรวมมากถึง 146 ชิ้นงาน 

ดร.สุภาพร ศรีสัตตรัตน์ หัวหน้าหน่วยจัดการทุนโครงการเกรียนไซเบอร์เซียนสร้างสรรค์สื่อสร้างสุข ปี 2 (เกรียนไซเบอร์ฯ ปี 2)    โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)  ร่วมกับมหาวิทยาลัยสยาม  เปิดเผยว่า  จากการดำเนินโครงการเกรียนไซเบอร์ ปี 2  มาต่อเนื่อง 12  เดือน ทำให้พบว่า น้องๆ อาชีวะ เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook IG Twitter TikTok ฯลฯ เพราะได้เรียนรู้และตระหนักปัญหาทางสังคมทั้งในประเด็นภาวะซึมเศร้า การระรานทางไซเบอร์และภัยคุกคามบนสื่อสังคมออนไลน์  ผ่านกระบวนการอบรม การเรียนรู้ระหว่างการดำเนินงานผลิตชิ้นงานสื่อดิจิทัล

“จากการถอดบทเรียนของโครงการเกรียนไซเบอร์ ปี 2 พบว่า น้องๆ อาชีวะมีความระมัดระวังที่จะแสดงความคิดเห็นบนสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น งดเว้นการล้อเลียนหรือใช้ภาษาที่รุนแรง  เกิดความเข้าใจว่าการระรานทางไซเบอร์เป็นอันตรายและส่งผลกระทบกับผู้ที่ถูกระรานอย่างมาก   เกิดความเข้าใจว่าอาการซึมเศร้าเป็นอาการที่รุนแรงและสามารถบรรเทาความรุนแรงได้ด้วยคนรอบข้างที่เข้าใจ  ผลจากการถอดบทเรียนดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าโครงการเกรียนไซเบอร์ ปี 2  ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ร่วมโครงการอย่างเป็นรูปธรรม  ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชีวิตของนักศึกอาชีวะที่เป็นหนึ่งในสมาชิกของสังคมวงกว้าง”  ดร.สุภาพร กล่าว

โครงการเกรียนไซเบอร์ ปี 2  ดำเนินงานมาเป็นระยะเวลา 12 เดือน ระหว่าง เดือนเมษายน 2563 ถึงเดือนมีนาคม 2564   มอบทุนแก่โครงการย่อยจำนวน 31 ทีม มีนักศึกษาอาชีวะเข้าร่วมจำนวนรวม 155 คน จาก 20 สถาบัน ในพื้นที่ 9 จังหวัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลและภาคตะวันตก ภาคตะวันออก  และผลิตผลงานสื่อดิจิทัล จำนวนรวม 146 ชิ้นงาน   และได้มีการเผยแพร่ผลงานทางสื่อออนไลน์รวมมากถึง 2.5 แสน ครั้ง   โดยเฉพาะผลงาน TikTok  ที่มียอดผู้เข้าชมมากถึง 2 แสนครั้ง     

ผู้สนใจสามารถดาวโหลดและนำผลงานสื่อดิจิทัล 146 ชิ้นงานไปเผยแพร่ได้สำหรับงานรณรงค์ในประเภทเดียวกัน โดยสามารถเข้าชมผลงาน ที่ www.greancyber.com

ที่มา: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ