ในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว องค์กรต่างๆ จำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความท้าทายและโอกาสที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในปัจจัยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิต การบริการ การเงิน การแพทย์ รวมไปถึงภาครัฐและภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม การนำ AI มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดไม่ได้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว หากจำเป็นต้องมีวัฒนธรรมองค์กรที่เข้าใจและพร้อมทำงานร่วมกับ AI อย่างเป็นระบบและยั่งยืน วันนี้ OPEN-TEC (Tech Knowledge Sharing Platform) ภายใต้การดูแลของ TCC TECHNOLOGY GROUP จะพาทุกท่านไปสำรวจ “AI Culture” ที่จะกลายเป็นรากฐานสำคัญขององค์กรยุคใหม่

AI Culture คืออะไร?
AI Culture หรือ วัฒนธรรมองค์กรที่พร้อมอยู่ร่วมกับ AI หมายถึงการบูรณาการ AI เข้ากับแนวคิด กระบวนการทำงาน และค่านิยมขององค์กรอย่างสมดุลและมีจริยธรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนและ AI สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เปิดโอกาสในการสร้างนวัตกรรม และขยายศักยภาพขององค์กรให้กว้างขึ้น ทั้งนี้ จากข้อมูลของสถาบัน Human Technology Institute ระบุว่า องค์กรที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่พร้อมอยู่ร่วมกับ AI จะมีความเข้าใจในศักยภาพและข้อจำกัดของ AI พร้อมสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการฝึกอบรม การทดลองใช้งาน และการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง1 ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญในขับเคลื่อนองค์กรในยุคดิจิทัล
บทบาทของผู้นำในการผลักดัน AI Culture
การเสริมสร้าง AI Culture ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน เริ่มต้นจาก “ผู้นำ” ที่มีวิสัยทัศน์และเข้าใจบทบาทของ AI อย่างชัดเจน พร้อมสามารถเชื่อมโยงเทคโนโลยีเข้ากลยุทธ์และแนวคิดด้านจริยธรรมขององค์กร จากรายงานของ World Economic Forum ชี้ให้เห็นว่า 74% ของบุคลากรต้องการเรียนรู้ผ่านผู้นำของตนเอง ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญของบทบาทผู้นำในการเสริมสร้างศักยภาพคนในองค์กร2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ทักษะด้านเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การลงทุนด้านการเรียนรู้จึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มพูนทักษะ เสริมสร้างแรงจูงใจ และการเติบโตขององค์กรในระยะยาว
การส่งเสริม AI Literacy ในทุกระดับ
AI Literacy หรือ การรู้เท่าทัน AI ไม่ได้จำกัดเฉพาะฝ่ายงานด้านเทคโนโลยีอีกต่อไป ทุกฝ่ายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการตลาด การเงิน ทรัพยากรบุคคล หรือผู้บริหารระดับสูง ต่างมีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้และประยุกต์ใช้ AI ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในบริบทของตนเอง ตามรายงานจาก Microsoft ชี้ให้เห็นว่าบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมด้าน AI อย่างเหมาะสม มีแนวโน้มที่จะมองเห็นคุณค่าของ AI มากกว่าคนทั่วไปถึง 1.9 เท่า โดยเฉพาะในด้านการตัดสินใจและการเพิ่มประสิทธิภาพงาน3 ดังนั้น องค์กรจึงควรเริ่มต้นจากการให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการทำงานของ AI พร้อมปลูกฝังแนวคิดด้านจริยธรรม ความโปร่งใส และความรับผิดชอบในการใช้งาน เพื่อให้บุคลากรมีความมั่นใจในการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม เพราะเมื่อการเรียนรู้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร การเปลี่ยนแปลงก็จะไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว แต่คือโอกาสในการยกระดับความสามารถของคนและองค์กรไปพร้อมกัน
AI Culture ต่อความสามารถในการแข่งขัน
การมี AI Culture อย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพียงการตอบสนองต่อกระแสเทคโนโลยีเท่านั้น หากแต่เป็นกลยุทธ์ระยะยาวในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน องค์กรที่มีวัฒนธรรมการใช้ช้อมูลและ AI อย่างมีระบบจะสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้อย่างรวดเร็ว ตัดสินใจได้แม่นยำขึ้น พร้อมทั้งสร้างสิ่งใหม่ๆได้อย่างต่อเนื่อง ตามข้อมูลของ Deloitte ยังระบุว่า องค์กรที่ใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพมีโอกาสบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจสูงถึง 48% ภายในหนึ่งปี ในขณะที่องค์กรที่ขาดวัฒนธรรมดังกล่าวกลับเผชิญปัญหาด้านการปรับตัว4 ทั้งนี้ AI Culture ที่ฝังลึกอยู่ในโครงสร้างและ ความคิดของผู้คนภายในองค์กรยังเป็นจุดแข็งที่ยากจะลอกเลียนแบบ เพราะไม่ใช่แค่การใช้เทคโนโลยีอย่างฉาบฉวย แต่เป็นแนวคิดและพฤติกรรมที่สอดคล้องกันในทุกระดับขององค์กร
สุดท้ายนี้ ในยุคที่ข้อมูลกลายเป็นสินทรัพย์อันล้ำค่า การแปลงข้อมูลให้กลายเป็นการตัดสินใจที่แม่นยำ คือหัวใจของความสำเร็จ และ “AI Culture” คือกลไกสำคัญที่จะทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน และเปลี่ยนแปลงองค์กรให้ก้าวเดินไปพร้อมกับ AI อย่างมีเป้าหมายร่วมกัน
อ้างอิง
1. Carney, G., & Davis, N. (2024). People, skills and culture for effective AI governance (AI Governance Snapshot #4). Human Technology Institute, University of Technology Sydney (UTS).
2. World Economic Forum. (2025). AI and beyond: How every career can navigate the new tech landscape. https://www.weforum.org/stories/2025/01/ai-and-beyond-how-every-career-can-navigate-the-new-tech-landscape/
3. Benzing, M. (2025). Research drop: Investing in training opportunities to close the AI skills gap. Microsoft.https://techcommunity.microsoft.com/blog/microsoftvivablog/research-drop-investing-in-training-opportunities-to-close-the-ai-skills-gap/4389566
4. Davenport, T. H., Smith, T., Guszcza, J., & Stiller, B. (2019). Analytics and AI‑driven enterprises thrive in the Age of With. Deloitte Insights. https://www.deloitte.com/us/en/insights/topics/analytics/insight-driven-organization.html