กระบี่เดินหน้าเสริมสร้างพันธมิตร สู่เป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

เปิดตัวโครงการ “บูรณาการจัดการทรัพยากรพันธมิตรการท่องเที่ยวยั่งยืนกระบี่เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Krabi Sustainable Tourism Partnerships for Integrated Resource Management toward Sustainable Development Goals)

สมาคมส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (ประเทศไทย) (SCPA) ร่วมกับสถาบันยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมโลก (Institute for Global Environmental Strategies: IGES) จัดกิจกรรม Kick-off Event เปิดตัวโครงการ “บูรณาการจัดการทรัพยากรพันธมิตรการท่องเที่ยวยั่งยืนกระบี่เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Krabi Sustainable Tourism Partnerships for Integrated Resource Management toward Sustainable Development Goals)  ณ ห้องขนาบน้ำ โรงแรมกระบี่ มาริไทม์ รีสอร์ท จังหวัดกระบี่

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ – ศูนย์เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ (United Nations Environment Programme – International Environmental Technology Centre: UNEP-IETC) โดยภายในงานมีเข้าร่วมกว่า 50 คนจากหลากหลายภาคส่วน อาทิ ผู้บริหาร หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายที่ทำงานด้านการท่องเที่ยวยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจาก นายอนุวรรตน์ โหมดพริ้ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เป็นประธานในพิธีเปิด

นายอนุวรรตน์ โหมดพริ้ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า จังหวัดกระบี่ให้ความสำคัญสนับสนุนกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยหน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุนภาคีท้องถิ่นจากหลากหลายภาคส่วน จนนำไปสู่ความสำเร็จในการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงยั่งยืน อาทิ การผลักดันพื้นที่คลองท่อมให้เป็น 1 ใน 3 แหล่งท่องเที่ยวไทย หรือ “สุดยอดแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 1 ใน 100 ของโลก” (Green Destinations Top 100 Stories 2023)  ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Quality Destination” ของประเทศ

นางสาวกัสมาพร ลิมปนพงศ์เทพ นายกสมาคมโรงแรมจังหวัดกระบี่ กล่าวในฐานะตัวแทนสมาคมฯ ว่า สมาคมโรงแรมจังหวัดกระบี่ได้ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการ Krabi Go Green โดยเน้นการลดการใช้พลาสติก การจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการพัฒนาโรงแรมคาร์บอนต่ำ จนได้รับการยอมรับเป็นต้นแบบ Krabi Prototype โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท) สมาคมฯ ยังผลักดันให้โรงแรมในจังหวัดนำมาตรฐาน Green Hotel Green Leaf และ CF-Hotels มาปรับใช้ พร้อมพัฒนาศักยภาพบุคลากร และส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชนในพื้นที่ ทั้งนี้ สมาคมโรงแรมจังหวัดกระบี่ขอขอบคุณโครงการ Krabi Sustainable Tourism Partnerships for Integrated Resource Management toward Sustainable Development Goals)  ภายใต้การสนับสนุนจาก SCPA และ IGES ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้จังหวัดกระบี่มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และก้าวสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2040 อย่างเป็นรูปธรรม

ดร. เปรมกุมารา จาคัท ดิคเคลลา กามาราลาลาเก (Dr. Premakumara Jagath Dickella Gamaralalage) ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือสถาบันยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมโลกกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ด้านเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม (IGES Centre Collaborating with UNEP on Environmental Technologies – IGES-CCET) กล่าวในงานว่า IGES-CCET มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบการจัดการของเสียอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย ผ่านการส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีภายใต้นโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน  (Circular Economy)

ภายใต้โครงการนี้ ดร. จุน อิชิฮาระ (Dr. Jun Ichihara) ผู้อำนวยการสำนักงาน IGES ระดับภูมิภาค กรุงเทพมหานคร (Bangkok Regional Center: BRC) ร่วมกับคุณฌอเฌอ เทวบริหารตระกูล ผู้จัดการโปรแกรมอาวุโส และหัวหน้าทีมโครงการจาก IGES BRC ได้ประสานการดำเนินโครงการฯ ร่วมกับสมาคมส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (SCPA)  และกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (Department of Climate Change and Environment: DCCE) รวมถึงเครือข่ายพันธมิตรทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค โดยสำนักงาน IGES BRC มุ่งมั่นในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในประเทศไทย ขณะนี้ IGES BRC กำลังขยายเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคีต่างๆ โดยยินดีทำงานร่วมกันกับพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ และสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ สำหรับในพื้นที่จังหวัดกระบี่ โครงการฯ ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพของภาคีเครือข่ายพันธมิตรท้องถิ่นด้านการท่องเที่ยวยั่งยืน ได้แก่ สมาคมธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยว กลุ่มผู้ประกอบโรงแรมมาตรฐาน Green Hotel ร้านอาหาร และกลุ่มท่องเที่ยวชุมชม เพื่อร่วมกันอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวในพื้นที่ พร้อมทั้งพัฒนาแนวปฏิบัติที่ดีและเครื่องมือสำหรับภาคส่วนต่างๆ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่ เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อย่างเป็นรูปธรรม

ดร. วิจารย์ สิมาฉายา นายกสมาคมส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า โครงการฯ นี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการจัดการทรัพยากรอย่างบูรณาการ และสนับสนุนการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ผ่านการท่องเที่ยวยั่งยืนในจังหวัดกระบี่ ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของสมาคมฯ ในการส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการผลิตและการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ โดยเฉพาะเป้าประสงค์ที่ 12.1  ซึ่งเน้นการดำเนินงานตามกรอบระยะ10 ปีว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (10-Year Framework of Programmes on Sustainable Consumption and Production – 10YFP) ที่ทุกประเทศควรนำไปปฏิบัติ โดยประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำ พร้อมคำนึงถึงบริบทและขีดความสามารถของประเทศกำลังพัฒนา การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนถือเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญภายใต้กรอบดังกล่าว ซึ่งช่วยสนับสนุนเป้าประสงค์ด้านอื่นๆ ได้แก่ การลดการสูญเสียน้ำ พลังงาน และของเสียอาหาร การลดการใช้สารเคมีอันตราย และส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างที่ยั่งยืน นอกจากนี้ เป้าประสงค์ 12.b ซึ่งมุ่งพัฒนาและใช้เครื่องมือในการติดตามผลกระทบของการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่สร้างงาน และส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ดร. วิจารย์เน้นย้ำว่า การท่องเที่ยงที่ยั่งยืนมีบทบาทสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายของการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เนื่องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีบทบาทเชิงยุทธศาสตร์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ภายในงานมีการนำเสนอรายละเอียดของกิจกรรมต่างๆ ที่ได้มีการดำเนินการในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤศจิกายน พ.ศ. 2568 โดย รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล ผู้ดูแล Component 1 กล่าวถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint Platform) ซึ่งเป็นเครื่องมือของโครงการฯ ในการติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่าง ๆ ในภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่ เพื่อสนับสนุนการจัดการที่มีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ในส่วนของ Component 2 ซึ่งดำเนินการโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ได้จัดกิจกรรมฝึกอบรมเพื่อส่งเสริมการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Hotel) ให้แก่สมาชิกสมาคมโรงแรมจังหวัดกระบี่ รวมถึงการจัด Green Hotel Plus Coaching โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาเชิงลึกในประเด็นที่โรงแรมแต่ละแห่งให้ความสนใจ กิจกรรม Green Hotel Plus Coaching มีเป้าหมายเพื่อยกระดับโรงแรมที่มีความพร้อมให้สามารถดำเนินการตามแนวทางโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้ง 7 ด้าน ตามมาตรฐาน Green Hotel Plus ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากล (Global Sustainable Tourism Council–Recognized Standard) โดยครอบคลุมเกณฑ์สำคัญ เช่น

  1. การมีนโยบายและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  2. การพัฒนาศักยภาพบุคลากร
  3. การจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน
  4. การอนุรักษ์พลังงาน
  5. การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
  6. การบริหารจัดการของเสีย
  7. และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น

ดร.พีรพร พละพลีวัลย์ ผู้ดูแล Component 3 และหัวหน้าโครงการฯ ของสมาคมฯ กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานว่า กิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้โครงการนี้จะนำไปสู่การจัดทำรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคสมัครใจของท้องถิ่น (Voluntary Local Reviews: VLRs) ในบริบทการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนของจังหวัดกระบี่  โดยรายงานดังกล่าวจะจัดทำทั้งในรูปแบบภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ภายใต้ชื่อ Voluntary Local Review (VLR): SDG Implementation Based on Krabi Sustainable Tourism Practice Report โดยอิงจากแนวปฏิบัติด้านการท่องเที่ยวยั่งยืนของผู้ประกอบการในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม หรือเครือข่ายการท่องเที่ยวอื่นๆ เพื่อสะท้อนถึงความพยายามในการบูรณาการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) สู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม

กิจกรรม Kick-off Event ครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของโครงการ โดยเปิดตัวคณะทำงานในพื้นที่และทีมที่ปรึกษาโครงการ พร้อมเปิดเวทีให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในท้องถิ่นร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อแนวทางการการดำเนินงาน

นอกจากนี้ โครงการฯ ยังครอบคลุมกิจกรรมอื่นๆ ที่สนับสนุนการท่องเที่ยวยั่งยืน อาทิ

  • การจัดการขยะบนเกาะลันตาโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI)
  • การปลูกปะการังและเก็บขยะชายหาดโดยผู้ประกอบการท้องถิ่น เช่น Krabi Specialist
  • การจัดประชุมระดับโลก “Global Meaningful Travel Summit 2025” โดย Tourism Cares ร่วมกับ ททท. ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2568 ซึ่งจะจัดขึ้นทั้งที่กรุงเทพฯ และจังหวัดกระบี่

ความร่วมมือทั้งหมดนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของจังหวัดกระบี่ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืน เพื่อส่งต่อความงดงามของธรรมชาติให้กับคนรุ่นต่อไปอย่างยั่งยืน

 

 

ที่มา: สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI)