ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยศูนย์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมกับสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมด้านสุขภาพกระดูกและข้อเพื่อผู้สูงอายุ ภายใต้แนวคิด “ก้าวอย่างมั่นใจ ห่างไกลข้อสะโพกเสื่อมและหัก” ป้องกันได้ รักษาทัน หายไว ทั้งนี้ การล้มในผู้สูงอายุนั้นสำคัญมาก โดยผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุในบ้านหรือสถานที่ต่าง ๆ จะเข้าใจความรู้สึกนี้เป็นอย่างดี ดังนั้น การดูแลผู้สูงอายุจึงไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก หากเราใส่ใจดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะหากพลาดแค่เสี้ยววินาทีเดียวที่ผู้สูงอายุล้มขึ้นมานั่นหมายถึงชีวิต ติดเตียง หรือพิการตลอดชีวิตหากไม่รีบนำส่งโรงพยาบาลอย่างทันท่วงที ด้วยเหตุนี้ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย จึงได้เล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมความรู้เท่าทันสุขภาพในเรื่องดังกล่าว

โดยมี รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย ผศ.พ.ต.ต.นพ.ธงชัย สุนทราภา นายกสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์และความร่วมมือของสมาคมในการร่วมจัดกิจกรรมครั้งนี้ และ นพ.เติมพงศ์ พ่อค้า ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์สาขาศัลยศาสตร์ทางมือข้อศอกและจุลศัลยศาสตร์ ได้กล่าวถึงความก้าวหน้าของบริการแพทย์นวัตกรรมการผ่าตัดรักษา ข้อเข่า และข้อสะโพก พร้อมทีมแพทย์ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ และแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ มาร่วมให้ความรู้เสวนาในหัวข้อต่าง ๆ โดยมีประชาชนผู้ที่สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมงานกว่า 400 ท่าน งานครั้งนี้จัดขึ้น ณ ห้องประชุม Convention Hall ชั้น 6 อาคารกรมพระศรีสวางควัฒน โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ
รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่า “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาวิจัยและสถาบันการแพทย์ มีพันธกิจในด้านบริการวิชาการและวิชาชีพด้านสุขภาพแก่สังคม โดยมีโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นส่วนงานหลักในการให้บริการรักษาพยาบาลแก่ประชาชน ส่งเสริมความรู้และการดูแลเชิงป้องกันให้ประชาชนได้ตระหนักถึงอันตรายของภาวะข้อสะโพกหักในผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดได้ง่ายจากการหกล้ม และอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อคุณภาพชีวิต หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ มีศักยภาพการบริการทางการแพทย์ของศูนย์ออร์โธปิดิกส์ ที่มีศักยภาพเพียบพร้อมด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ที่มีประสบการณ์เฉพาะทางด้านการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพสูง เพื่อเป็นที่พึ่งทางสุขภาพด้านกลุ่มโรคทางกระดูกและข้อให้กับประชาชนคนไทยให้สามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียม ตามพระปณิธานของ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และองค์ประธานผู้ทรงจัดตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์แห่งนี้”
ภายในงานจัดเสวนาให้ความรู้เริ่มด้วยหัวข้อ “ก้าวอย่างมั่นใจ ห่างไกลจากข้อสะโพกเสื่อมและหัก” โดย รศ.นพ.จตุรงค์ พรรัตนมณีวงศ์ ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ สาขาศัลยศาสตร์บูรณสภาพในข้อสะโพกและข้อเข่า เปิดเผยว่า “ภาวะหกล้มในผู้สูงอายุเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การเกิด “ข้อสะโพกหัก” ซึ่งจัดเป็นหนึ่งในภาวะฉุกเฉินที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมอย่างรุนแรง ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม จากข้อมูลของ WHO (2021) และ BMJ (Marks et al., 2022) พบว่า ผู้สูงอายุที่มีภาวะข้อสะโพกหัก มีอัตราการเสียชีวิตภายใน 1 ปี สูงถึง 20–30% และมากกว่าร้อยละ 50 ไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมก่อนล้ม ทั้งนี้ เนื่องจากกระดูกที่เปราะบางจากโรคกระดูกพรุนและการสูญเสียสมรรถภาพกล้ามเนื้อในวัยชรา ทำให้แม้การล้มเพียงครั้งเดียวก็อาจนำไปสู่การนอนติดเตียงอย่างถาวร หากข้อสะโพกหักจะส่งผลต่อชีวิต เช่น พิการถาวร ผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถเดินได้เองอีก นอนติดเตียงและภาวะแทรกซ้อน เช่น แผลกดทับ ปอดอักเสบ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด โดยมีทางเลือกในการรักษา คือ กรณีไม่ผ่าตัด เหมาะกับผู้ป่วยที่ความเสี่ยงการผ่าตัดสูงมาก การเคลื่อนไหวจำกัด เสี่ยงแทรกซ้อนสูง ส่วนกรณีการผ่าตัดนั้น คนไข้ฟื้นตัวเร็ว ลดภาวะแทรกซ้อนจากการนอนติดเตียง แต่อาจมีความเสี่ยงทางวิสัญญีและแผลผ่าตัดตามแนวทางของ American Academy of Orthopaedic Surgeons (AAOS) การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกถือเป็นมาตรฐานการรักษาหลักในกรณีผู้สูงอายุที่มีภาวะข้อสะโพกหัก ซึ่งผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดนั้นต้องปวดข้อสะโพกเรื้อรังมากกว่า 3-6 เดือน ข้อติดหรือเคลื่อนไหวได้น้อย รอยโรคในฟิล์มแสดงการเสื่อมขั้นรุนแรง ภาวะข้อสะโพกหัก โดยเกณฑ์เหล่านี้จำเป็นต้องพิจารณาร่วมกับอายุ สุขภาพโดยรวม และระดับการพึ่งพิงของผู้ป่วย”
ด้าน นพ.วรายศ ตราฐิติพันธุ์ ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ สาขากระดูกสันหลัง กล่าวเสริมว่า “ปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่ภาวะข้อสะโพกหัก ได้แก่ กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง สายตาพร่ามัว ภาวะบ้านหมุน เวียนศีรษะ หรือยารักษาโรคบางชนิดและการใช้ไม้เท้าหรืออุปกรณ์ไม่เหมาะสม เป็นต้น ส่วนอาการปวดสะโพก ปวดสลักเพชร ก้นย้อย ร้าวลงขานั้น อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น กล้ามเนื้อสะโพกลึกอักเสบ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ข้อสะโพกเสื่อม หรือแม้แต่ปัญหากล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน โดยลักษณะการปวดนั้น หากปวดลึกบริเวณก้น ยิ่งนั่งนานหรือขับรถนานยิ่งปวด แล้วร้าวลงขา อาจเป็นกลุ่มอาการกล้ามเนื้อสะโพกลึกกดทับเส้นประสาทแต่ถ้ามีอาการปวดหลังร่วมด้วย โดยเฉพาะเวลายกของ ก้มตัว หรือเดินมาก ๆ แล้วร้าวลงขา อาจต้องระวังหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นจำเป็นต้องตรวจร่างกายเพิ่มเติมหรือทำ MRI/X-ray ตามความจำเป็นโดยแพทย์จะช่วยแยกสาเหตุได้ หรือหากอาการยังไม่รุนแรง ต้องเริ่มจากการปรับพฤติกรรม เช่น เลี่ยงการนั่งนาน ยืดเหยียดสะโพกทุกวัน ประคบร้อนเบา ๆ และฝึกกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวหากไม่ดีขึ้นใน 2-4 สัปดาห์ ควรพบแพทย์เพื่อประเมินเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาให้ความรู้ในเรื่อง เข้าใจ “ข้อสะโพกหัก” ภัยเงียบที่แฝงอยู่ในทุกการล้ม โดย นพ.อรรถพร ลาวัณย์ประเสริฐ ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ ผ่าตัดเข่าและข้อสะโพกเทียม กระดูกพรุนและกระดูกหักในผู้สูงอายุ พร้อมด้วย พญ.ชัญญา วุฒิไกรกุล แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ ที่มาเปิดเผยถึงสาเหตุของการหกล้มในผู้สูงอายุ และการอัปเดตเทคโนโลยีใหม่ของการตรวจวินิจฉัยและรักษา “ผ่าตัดข้อสะโพกยุคใหม่ แม่นยำ ฟื้นไว ก้าวไกลกว่าเดิม” โดย นพ.ณัฐวุฒิ ชนะฤทธิชัย ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ สาขาศัลยศาสตร์บูรณสภาพในข้อสะโพกและข้อเข่า และ พญ.พรภา เลิศอุตสาหกูล แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู
โดย นพ.ณัฐวุฒิ ชนะฤทธิชัย ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ สาขาศัลยศาสตร์บูรณสภาพในข้อสะโพกและข้อเข่า กล่าวถึง นวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ของการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่เข้ามาช่วยให้การผ่าตัดข้อสะโพกมีความแม่นยำ และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวไวขึ้นกว่าเดิมว่า “โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้นำเทคโนโลยีใหม่ในการตรวจวินิจฉัยเข้ามาช่วยให้การผ่าตัดข้อสะโพกมีความแม่นยำ ผู้ป่วยฟื้นตัวไวขึ้น โดยมีการตรวจ Bone Mineral Density (BMD) ด้วย Dual-energy X-ray Absorptiometry (DEXA) ช่วยคัดกรองโรคกระดูกพรุน การทำ MRI และ CT scan ที่ช่วยวินิจฉัยรอยร้าวที่เทคโนโลยีช่วยผ่าตัดยุคใหม่ในปัจจุบันนี้วงการแพทย์เราใช้เทคโนโลยีตรวจไม่พบในฟิล์ม X-ray ปกติ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีกระดูกบางมาก และการประเมินความเสี่ยงด้วย FRAX score โดยใช้ร่วมกับผล BMD เพื่อประเมินโอกาสเกิดกระดูกหักใน 10 ปี สำหรับเทคโนโลยีช่วยผ่าตัดยุคใหม่ ปัจจุบันวงการแพทย์เราใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic-assisted surgery) มาช่วยเพิ่มความแม่นยำในการวางตำแหน่งข้อเทียม ควบคู่กับระบบนำทาง (Navigation system) ทำหน้าที่ควบคุมมุมการใส่ข้อเทียมแบบเรียลไทม์ และนวัตกรรมเทคโนโลยีกล้อง 3 มิติ (3D Fluoroscopy)ที่ช่วยลดการเปิดแผลและภาวะแทรกซ้อนในการผ่าตัด โดยช่วยให้เกิดข้อดีกว่าเดิม คือ ลดขนาดแผล ลดระยะเวลาผ่าตัด ผู้ป่วยเจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว ช่วยลดอัตราเคลื่อนของข้อเทียม และผู้ป่วยกลับมาฟื้นตัวและเดินได้เร็วภายใน 24–48 ชม. ”
ปิดท้ายด้วยเสวนาหัวข้อ “ล้มได้…แค่ครั้งเดียวก็เปลี่ยนชีวิต” โดย นพ.ณัฐวุฒิ ชนะฤทธิชัย ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ สาขาศัลยศาสตร์บูรณสภาพในข้อสะโพกและข้อเข่า และ นพ.อรรถพร ลาวัณย์ประเสริฐ ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ ผ่าตัดเข่าและข้อสะโพกเทียม กระดูกพรุนและกระดูกหักในผู้สูงอายุ พร้อมด้วยการรับฟังเรื่องเล่าจากประสบการณ์ตรงของ คุณสมเกียรติ เพชรประดับ ผู้ป่วยสะโพกเสื่อม และคุณสุภาภรณ์ ทับทิมแดง ผู้ป่วยสะโพกหัก เปิดเผยถึงการดูแลรับมือและการฟื้นฟูสุขภาพข้อสะโพกภายหลังจากเข้ารับรักษาอาการ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้เข้าร่วมงานในการดูแลสุขภาพรวมทั้งการให้คำแนะนำการจัดสภาพแวดล้อมจัดบ้านป้องกันการล้มและกิจกรรม “ทำยังไงไม่ให้ล้ม…ล้มยังไงไม่ให้หัก” โดยสอนท่าล้มอย่างปลอดภัยและฝึกท่าออกกำลังกายง่าย ๆ โดย คุณสุมิตรา พรมปัญญา นักกิจกรรมบำบัด และเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อด้วยการออกกำลังกาย รวมถึงสอนการยืดกล้ามเนื้อ โดยนักกายภาพบำบัด คุณธีรศักดิ์ สมใจ และ คุณภัณฑิรา เตชะวรรักษ์ และภายในงาน ยังมีการจัดกิจกรรมตรวจเช็กสุขภาพกระดูกและข้อ การจัดแสดงนิทรรศการ “บ้านปลอดล้ม” โดยให้ความรู้การจัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อผู้สูงอายุและนิทรรศการแสดงนวัตกรรมเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดข้อเข่าและข้อสะโพก พร้อมการให้คำปรึกษานัดหมายสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับข้อเข่าและข้อสะโพกที่ต้องการเข้ารับการรักษา
ทั้งนี้ การให้บริการสุขภาพด้านกระดูกและข้อเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคตามแผนยุทธศาสตร์ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่มุ่งพัฒนาและยกระดับบริการทางการแพทย์เพื่อรองรับการให้บริการดูแลสุขภาพแก่ประชาชน โดยมีศูนย์ออร์โธปิดิกส์ เปิดให้บริการทางการแพทย์ ณ ชั้น 1 โซนบี อาคารกรมพระศรีสวางควัฒน โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ให้บริการตรวจวินิจฉัย รักษา และการผ่าตัดรักษาโรคทางกระดูกและข้ออย่างครบวงจรโดยศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์เฉพาะทางครอบคลุมทุกสาขา ด้วยนวัตกรรมบริการสุขภาพด้านกระดูกและข้อที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล พร้อมมุ่งให้บริการวิชาการและวิชาชีพด้านสุขภาพที่เป็นเลิศแก่สังคมในกลุ่มโรคทางกระดูกและข้อ เพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพและสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพให้กับคนในสังคมไทย โดยประชาชนสามารถร่วมติดตามรับชมการให้บริการวิชาการความรู้สุขภาพกระดูกและข้อของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ผ่านทางรายการ “ORTHOPEDICS PLAYLIST เพลย์ลิสต์+หมอกระดูกและข้อ ทางช่อง CRA CHULABHORN Channel และสามารถร่วมติดตามข่าวสารการให้บริการความรู้ด้านสุขภาพกับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ทาง Facebook @chulabhornhospital และติดตามเป็นเพื่อนทางไลน์เพื่อเข้าถึงการให้บริการทางการแพทย์กับศูนย์การรักษาโรคเฉพาะทางของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ได้ที่ LINE Official Account @chulabhornhospital สำหรับผู้รับบริการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ที่มีประวัติการรักษา หรือ HN เพื่อความสะดวกและไม่พลาดทุกการแจ้งเตือน สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน CHULABHORN HEALTH PLUS ได้ทาง App store และ Google Play store ได้แล้ววันนี้