กรมอนามัยผนึกกำลังเครือข่าย เดินหน้า Sandbox Model แก้ปัญหาฟันผุในเด็กไทย ชี้ ฟันดีต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก

วันนี้ (21 กรกฎาคม 2568) แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์สร้างกระแส และประกาศนโยบายขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพช่องปากเด็กปฐมวัยและ วัยเรียน “Sandbox Model จังหวัดเด็กฟันดี” โดยมี ดร.นายแพทย์ปองพล วรปาณิ รองอธิบดีกรมอนามัย ผู้บริหารกรมอนามัย และผู้บริหารจากภาคีเครือข่าย ร่วมงาน ณ โรงเรียนพญาไท กรุงเทพมหานคร

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการมีสุขภาพช่องปากที่ดีเป็นรากฐานของสุขภาพองค์รวม โดยเฉพาะในช่วงวัยเด็ก ถือเป็นช่วงเวลาของการเจริญเติบโต และการพัฒนาศักยภาพ เพื่อเติบโตเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพของประเทศ ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งเสริมให้เด็กไทยมีสุขภาพช่องปากที่ดีตั้งแต่แรกเกิดจนโต โดยเฉพาะการป้องกันฟันผุ ซึ่งเป็นปัญหาหลักในเด็กไทยมานาน โดยมีนโยบายและแนวทางในการดำเนินงานเพื่อลดอัตราการเกิด ฟันผุในเด็กปฐมวัย และเด็กวัยเรียน ดังนี้ 1) ส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพช่องปากที่เหมาะสมตั้งแต่แรกเกิด 2) เพิ่มการเข้าถึงบริการทันตกรรมเชิงป้องกันในระบบบริการสุขภาพ และ 3) ส่งเสริมบทบาทครอบครัว โรงเรียน และชุมชน ในการดูแลสุขภาพช่องปากเด็ก

 “ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด รวมทั้งเครือข่ายวิชาชีพด้านทันตสุขภาพ และภาคเอกชน โดยบริษัทไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพช่องปากเด็กปฐมวัยและวัยเรียน เพื่อปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาพช่องปากที่เหมาะสม พร้อมทั้งการจัดระบบบริการที่มีประสิทธิภาพ ไปจนถึงการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพช่องปากที่ดีในทุกบริบทของเด็ก โดยจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างกระแส และประกาศนโยบายขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพช่องปากเด็กปฐมวัยและวัยเรียน “Sandbox Model จังหวัดเด็กฟันดี”เพื่อนำไปสู่สุขภาพช่องปากที่ดีขึ้นของเด็กไทยทุกคน ซึ่งจะเป็นรากฐานอันมั่นคงของสุขภาพกายใจ และคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปในอนาคต” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ดร.นายแพทย์ปองพล วรปาณิ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาฟันผุในเด็กไทย จากข้อมูลผลการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติ ครั้งที่ 9 ในปี 2566 พบว่า เด็กไทยจำนวนมากยังประสบกับปัญหาฟันผุ และเหงือกอักเสบ โดยในเด็กอายุ 3 ปี มีฟันผุ ร้อยละ 47.0 และเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 72.1 ในกลุ่มเด็ก 5 ปี ซึ่งอยู่ในช่วงวัยสำคัญที่เริ่มเข้าสู่สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย นอกจากนี้ ในเด็กอายุ 12 ปี พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งมีปัญหาฟันผุ (ร้อยละ 49.7) และมากกว่าร้อยละ 80 พบกับปัญหาเหงือกอักเสบ ขณะเดียวกัน การเข้าถึงบริการทันตกรรมกลับมีแนวโน้มลดลงอย่างน่าเป็นห่วง ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อพัฒนาการ การเรียนรู้ และคุณภาพชีวิตของเด็กไทยในระยะยาว

“สำหรับการขับเคลื่อน “Sandbox จังหวัดเด็กฟันดี” เป็นกลไกในการยกระดับการดูแลสุขภาพช่องปากและแก้ปัญหาฟันผุของเด็กไทยอย่างเป็นระบบ เพื่อส่งเสริมทันตสุขภาพในคลินิกเด็กสุขภาพดี สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย และโรงเรียน รวมทั้งการจัดบริการทันตกรรมป้องกันเชิงรุก ผ่านสถานบริการสาธารณสุขภาครัฐและเอกชน รถทันตกรรมในเครือข่ายคลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการที่ครอบคลุม โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ เริ่มดำเนินการ ใน 13 จังหวัดนำร่อง ทุกเขตสุขภาพ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ นครนายก เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา กาฬสินธุ์ นครพนม นครราชสีมา ยโสธร พังงา นราธิวาส และกรุงเทพมหานคร” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ที่มา: กรมอนามัย