สธ.-มท.-ก.ท.ม. ตั้งเป้าลดแม่ท้องคลอดก่อนกำหนด ลดเด็กแรกเกิดเสียชีวิต เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิม พระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกเพื่อครอบครัวไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นประธานเปิดการประชุมโครงการสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุกเพื่อลดภาวะคลอดก่อนกำหนด เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมี ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ธราธิป โคละทัต ผู้จัดการโครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกเพื่อครอบครัวไทย ในพระราชูปถัมภ์ฯ แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสาธารณสุข ที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการฯ นายมานะ สินมา ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ผู้แทนปลัดกระทรวงมหาดไทย แพทย์หญิงภาวิณี รุ่งทนต์กิจ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย ผู้แทนปลัดกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่าย ร่วมงาน ณ ห้องประชุมสัมพุทธเมตตาประชารักษ์ ชั้น 9 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข      

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาการคลอดก่อนกำหนด ส่งผลกระทบต่อเด็ก ครอบครัว เศรษฐกิจ และสังคม กระทรวงสาธารณสุขจึงร่วมกับภาคีเครือข่ายกำหนดเป้าหมายหญิงไทยคลอดก่อนกำหนด ไม่เกินร้อยละ 8 และลดอัตราเสียชีวิตของทารกแรกเกิดอายุ 7-28 วัน ไม่เกิน 4.0 ต่อพันทารกเกิดมีชีพ ภายในปี 2570 พร้อมทั้ง ขับเคลื่อนโครงการสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก เพื่อลดภาวะคลอดก่อนกำหนด เริ่มดำเนินการใน 24 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร เน้นดำเนินการ 6 ระบบ ดังนี้ 1) พัฒนาระบบตรวจคัดกรองสุขภาพ 2) ยกระดับการดูแลขณะตั้งครรภ์ 3) พัฒนาระบบการบริหารยา 4) พัฒนาระบบการรักษา และส่งต่อหญิงเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด และดูแลรักษาทารกเกิดก่อนกำหนด 5) สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 6) การติดตามพัฒนาการเด็ก       

ด้าน นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยพร้อมบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น ผ่านกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) และเครือข่ายชุมชน ตามโครงการฯ ดังกล่าว ในพื้นที่ 24 จังหวัด 72 อำเภอ ด้วยการพัฒนาระบบสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน การพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อนำมาใช้ในการเฝ้าติดตามดูแลหญิงตั้งครรภ์ โดยทีมงานระดับพื้นที่ ได้แก่ นายอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล แกนนำชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ดำเนินการเชิงรุก โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่มีฐานะยากไร้ และหญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด หรือมีอาการผิดปกติที่เร่งด่วนอื่นๆ จะได้รับการสงเคราะห์และการช่วยเหลือเบื้องต้นในกรณีเร่งด่วน ก่อนเข้ารับการรักษาในระบบบริการสุขภาพต่อไป      ด้าน นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้ขับเคลื่อนโครงการสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุกเพื่อลดภาวะคลอดก่อนกำหนด โดยวางแผนก่อนการตั้งครรภ์ การส่งเสริมการฝากครรภ์ที่มีคุณภาพ และการเข้าถึงบริการได้อย่างครอบคลุม การตรวจคัดกรองหญิงตั้งครรภ์ กลุ่มเสี่ยง รวมไปถึงการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงและพฤติกรรมที่หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยง เพื่อป้องกันภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด รวมทั้ง การพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ให้สามารถปฏิบัติภารกิจในด้านการส่งเสริม ป้องกัน ดูแลสุขภาพมารดา และ ทารกในครรภ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้าน ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ธราธิป โคละทัต ผู้จัดการโครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกเพื่อครอบครัวไทย ในพระราชูปถัมภ์ฯ กล่าวว่า โครงการสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุกเพื่อลดภาวะคลอดก่อนกำหนด เป็นโครงการที่คณะกรรมการอำนวยการโครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกฯ ดำเนินการในปี 2567 – 2570 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับชุมชนจนถึงหน่วยบริการสาธารณสุขทุกระดับ เพื่อลดภาวะคลอดก่อนกำหนดให้สำเร็จ พร้อมทั้งรวบรวมองค์ความรู้จากการพัฒนางานของบุคลากรในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังได้ทำการศึกษาวิจัยค้นหาประเด็นสำคัญ เพื่อจัดทำเป็นแผนงานสำหรับบูรณาการงานของทุกภาคีเครือข่าย พร้อมทั้งประเมินและติดตามตัวชี้วัด สำหรับการจัดประชุมในวันนี้ เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสาร แนวทางการขับเคลื่อนโครงการฯ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างความร่วมมือร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม บริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด เป็นต้น       

ด้าน แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ กล่าวว่า การคลอดก่อนกำหนดเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลต่อการเสียชีวิต ความพิการ หรือภาวะแทรกซ้อนต่อทารกไทย การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพประชาชนในทุกมิติ ทุกช่วงวัย ตลอดช่วงชีวิต เริ่มตั้งแต่อยู่ในท้องแม่จนถึงผู้สูงอายุ เริ่มตั้งแต่ ก่อนการตั้งครรภ์ต่อเนื่องมาขณะอยู่ในครรภ์มารดาสู่ช่วงเด็กปฐมวัยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ถือเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องจัดทำโครงการฯ นี้ พร้อมทั้งแถลงนโยบายเพื่อให้เห็นถึงความร่วมมือของทั้ง 3 องค์กร ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร ที่จะเป็นกำลังหลักในการดูแลและส่งเสริมให้หญิงตั้งครรภ์ และเด็กแรกเกิดที่เป็นหัวใจสำคัญในการเป็นอนาคตของชาติได้เติบโตอย่างมีสุขภาพดี มีคุณภาพต่อไป

ที่มา: กรมอนามัย