ในซอยอันเงียบสงบแห่งหนึ่งย่านบางกะปิ กรุงเทพฯ มีอาคารหนึ่งซึ่งได้แรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตั้งอยู่อย่างโดดเด่นและสง่างาม นั่นคือ Figures & Sala พื้นที่ที่อุทิศให้กับการสืบสานและพัฒนาหัตถศิลป์การหล่อสำริดแบบดั้งเดิม โดยมีคุณเฟรเดอริก โมเรล เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการ ทั้งนี้ Figures & Sala เป็นทั้งบ้านพักที่มีเสน่ห์ดุจต้องมนต์ขลัง พื้นที่จัดแสดงงานศิลป์ และสตูดิโอสร้างสรรค์ผลงานที่ศิลปินหล่อสำริดจากทั่วโลกต่างใฝ่ฝันที่จะมาเยือน

ณ ที่แห่งนี้เองที่คุณวาเลครี กูตาร์ (Valérie Goutard) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อวาล (Val) ศิลปินผู้ล่วงลับและภรรยาของคุณเฟรเดอริก โมเรล ได้สร้างสรรค์ผลงานหล่อสำริดที่ทรงพลังมากมายหลายชิ้น ซึ่งปัจจุบันประดับอยู่ตามพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ และต่างประเทศ ที่นี่เองเช่นกันที่ศิลปินจากแดนไกลอย่างฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรเดินทางมาเพื่อเข้าพำนัก ศึกษาเทคนิคการหล่อสำริดแบบไทย และสร้างผลงานใหม่ของตนโดยใช้ทั้งเครื่องมือใน Figures & Sala และโรงหล่อท้องถิ่นร่วมกัน
Figures & Sala เริ่มต้นดำเนินงานในปี 2554 เมื่อเฟรเดอริกและวาลทราบดีว่างานหล่อสำริดของเธอมีขนาดใหญ่ขึ้นและต้องการความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคที่สูงขึ้น พวกเขาจึงมองว่านี่คือโอกาสในการรวมความเชี่ยวชาญด้านการหล่อสำริดไว้ในที่เดียวเพื่อผลิตผลงานที่ประณีตบรรจงยิ่งขึ้น ประติมากรรมบางชิ้นของวาลมีขนาดใหญ่มากจนต้องติดตั้งประตูโรงงานสูงถึงสิบเมตรเพื่อให้สามารถเคลื่อนย้ายผลงานออกจากสตูดิโอได้
เมื่อเดินเข้าไปในสตูดิโอ ผู้มาเยือนจะสัมผัสได้ถึงสภาวะของการทำงานอันเป็นระบบระเบียบ พร้อมทั้งรับรู้ถึงกลิ่นเฉพาะของการหล่อโลหะและเครื่องจักรแปลกตา ดังที่ในเว็บไซต์ของ Figures & Sala ได้พรรณนาไว้ว่า:
“เวิร์กช็อปแห่งนี้เปรียบเสมือนกล่องสั่นพ้อง เสียงของเครื่องมือดังก้องกระทบกับเนื้อสำริด กลิ่นของขี้ผึ้งร้อนปะปนกับกลิ่นโลหะและไม้แกะสลัก ลำแสงสาดจากหลังคา เปลวไฟจากเครื่องเชื่อม และเงาร่างที่ของรูปทรงสถาปัตยกรรม”
ศิลปินหล่อสำริดจำนวนมากเดินทางมาทำงานที่สตูดิโอแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาทักษะและใช้ประโยชน์จากพื้นที่ทำงานที่โอ่อ่า กว้างขวาง และมีความเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ซึ่งหายากมากในเมืองใหญ่ในแถบตะวันตก พวกเขาได้เรียนรู้เทคนิคใหม่จากที่นี่ อาทิ การปั้นด้วยขี้ผึ้งซึ่งยืดหยุ่นกว่าดินเหนียวที่นิยมใช้ในยุโรป อีกทั้งยังได้ฝึกฝนขั้นตอนการทำแม่พิมพ์อันเป็นหัวใจของกระบวนการหล่อสำริด ที่สำคัญคือต้นทุนการผลิตงานหล่อสำริดในไทยนั้นต่ำกว่าทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก จึงช่วยให้ศิลปินสามารถสร้างผลงานได้อย่างคุ้มค่า
อีกหนึ่งจุดเด่นที่ดึงดูดใจศิลปินจากต่างแดนคือโอกาสในการติดต่อและสร้างเครือข่ายกับโรงหล่อชั้นนำของไทย ซึ่ง Figures & Sala มีความร่วมมือกับโรงหล่อชั้นนำต่าง ๆ ในไทยมายาวนาน โดยโรงหล่อเหล่านี้ล้วนสืบสานศิลปะการหล่อสำริดที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของไทย
เมื่อพูดถึงงานหล่อสำริด หลายคนอาจนึกถึงผลงานอมตะของโอกุสต์ รอแด็ง (Auguste Rodin) จากฝรั่งเศส หรือเฟรเดอริก เรมิงตัน (Frederick Remington) จากสหรัฐฯ แต่แท้จริงแล้วประเทศไทยมีประวัติการหล่อสำริดมาก่อนหลายศตวรรษ งานวิจัยทางโบราณคดีชี้ว่าเมื่อราว 4,000 ปีก่อนคริสตกาล ดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันมีชุมชนที่เป็นศูนย์กลางของการถลุงและหล่อสำริดยุคแรก ๆ หลักฐานงานสำริดกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยมากอยู่ในรูปแบบของพระพุทธรูป หนึ่งในผลงานที่น่าชื่นชมคือพระพุทธรูปยืน ณ วัดทิพย์สุคนธาราม จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นพระยืนหล่อสำริดที่สูงที่สุดในไทย นับเป็นความสำเร็จทางวิศวกรรมที่น่าทึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงคุณสมบัติของสำริดที่ค่อนข้างนุ่มตามธรรมชาติ
อีกหนึ่งผลงานขนาดมหึมาเทียบเท่าพระพุทธรูปยืนที่กล่าวไปคือ “From Chaos to Wisdom” ผลงานร่วมสมัยของวาล ซึ่งสร้างและหล่อขึ้นที่ Figures & Sala นับเป็นประติมากรรมสำริดร่วมสมัยที่ใหญ่ที่สุดชิ้นหนึ่งของโลก มีความยาว 36 เมตร สูงกว่า 4 เมตร ติดตั้งอยู่บนเนินเขาเหนือเมืองไถจง ไต้หวัน ตั้งแต่ปี 2560
หากนึกย้อนถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของศิลปะการหล่อสำริดในประเทศไทย และบทบาทร่วมสมัยที่ Figures & Sala ได้ร่วมสืบสานในห้วงเวลานั้น คุณเฟรเดอริก โมเรล ผู้อำนวยการสตูดิโอ ได้กล่าวถึงความตั้งใจหนึ่งที่ยังไม่เป็นจริง นั่นคือการได้เห็น Artist’s Proof (AP) หรืองานต้นแบบจากผลงาน “From Chaos to Wisdom” ของวาลตั้งอยู่ในแผ่นดินไทย ผลงานชิ้นนี้จะมีขนาดเท่ากับประติมากรรมต้นฉบับซึ่งติดตั้งอยู่ที่ไต้หวัน โดยคุณเฟเดอริกหวังว่าจะได้เจอพื้นที่ที่กว้างขวางพอสมควรในไทย เพื่อสามารถจัดวางผลงานได้อย่างโปร่งโล่งและเปิดพื้นที่ให้ผู้ชมได้ใช้เวลาสัมผัสกับความหมายของงานได้อย่างลึกซึ้ง สำหรับเขาแล้วการได้มอบบ้านหลังใหม่ในไทยให้กับผลงานสำริดอันยิ่งใหญ่นี้คือการกล่าว “ขอบคุณ” ต่อแผ่นดินไทย ที่ได้มอบแรงบันดาลใจและการสนับสนุนให้เขาและวาลเติบโตบนเส้นทางศิลปะ และโอกาสในการสร้างเวิร์กช็อปหล่อสำริดร่วมสมัยแห่งนี้ขึ้นมา โดยใช้ฝีมือและวัสดุของช่างฝีมือไทยอย่างแท้จริง