จุฬาฯ เร่งช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม-ดินสไลด์น่าน เดินหน้าระบบเตือนภัยดิจิทัล สานภารกิจ “มหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน”

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยลงพื้นที่สนับสนุนชุมชนในจังหวัดน่านอย่างเร่งด่วน เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2568  หลังเกิดเหตุอุทกภัยและดินสไลด์รุนแรงในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะ บ้านห้วยเลา บ้านสาลี่ และบ้านวนาไพร ซึ่งถูกตัดขาดจากโลกภายนอกและขาดแคลนอาหาร-น้ำดื่มจากฝนที่ตกหนักต่อเนื่อง

ความช่วยเหลือครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “Chula-DSN: Chula Disaster Solutions Network” เครือข่ายวิจัยและปฏิบัติการที่จุฬาฯ ริเริ่มเพื่อบรรเทาและรับมือภัยพิบัติในระดับชุมชน โดยมหาวิทยาลัยได้จัดสรรงบประมาณเพื่อจัดส่งน้ำดื่ม ข้าวสาร อาหารแห้ง ผักสด และไข่ไก่จากแหล่งผลิตในพื้นที่ผ่านความร่วมมือกับ อุทยานแห่งชาติศรีน่าน และ เครือข่ายฟื้นฟูน่าน

การดำเนินงานช่วยเหลือในครั้งนี้คือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในระบบ “Digital War Room” และ “แผนที่ดิจิทัลเฝ้าระวังภัยพิบัติ” ที่สามารถแจ้งเตือนระดับน้ำ ฝนตก และความเสี่ยงดินถล่มแบบเรียลไทม์ เพิ่มความสามารถในการตอบสนองภายในชุมชนเองได้อย่างแม่นยำและทันท่วงที

การดำเนินงานของ Chula-DSN สอดคล้องกับพันธกิจด้านความยั่งยืนของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะการสนับสนุน SDG 6: น้ำสะอาดและสุขาภิบาล SDG 11: เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน และ SDG 13: การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ จุฬาฯ ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะจากอิทธิพลของพายุ “WIPA” ซึ่งเข้าสู่ภาคเหนือระหว่างวันที่ 19–24 กรกฎาคม 2568 ที่อาจซ้ำเติมพื้นที่ประสบภัยเดิม

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขอยืนยันบทบาทของมหาวิทยาลัยในฐานะแหล่งวิชาการ เทคโนโลยี และพลังร่วมของสังคม ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชนในลุ่มน้ำน่านและพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ ผ่านการส่งเสริมองค์ความรู้ การวิจัย และการประสานความร่วมมือกับภาคีทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ