สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ยกระดับงานวิจัย พัฒนาเครื่องทอโลหะ จากกระบวนการผลิตงานหัตถกรรมการทอเสื่อจันทบูร จ.จันทบุรี ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่วิสาหกิจชุมชน หมู่บ้านเสม็ดงาม จ.จันทบุรี พัฒนารูปแบบเครื่องประดับที่มีเอกลักษณ์สะท้อนวัฒนธรรมท้องถิ่น ส่งเสริมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับให้เติบโตอย่างยั่งยืน

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันในฐานะหน่วยงานที่มีพันธกิจหลักในการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับอย่างครบวงจร และสอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ด้านอัญมณีและเครื่องประดับแก่นักวิจัย และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสถาบันการศึกษา โดยการให้ทุนอุดหนุนโครงการวิจัยเพื่อส่งเสริมและยกระดับขีดความสามารถด้านงานวิจัยด้านอัญมณีและเครื่องประดับให้ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรม
“ในปีงบประมาณ 2563 สถาบันได้จัดสรรทุนอุดหนุนโครงการวิจัยแก่ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ในโครงการ “พัฒนาเครื่องทอโลหะ จากการประยุกต์กระบวนการผลิตงานหัตถกรรมการทอเสื่อจันทบูร หมู่บ้านเสม็ดงาม จังหวัดจันทบุรี” เพื่อทำการศึกษาค้นคว้าและพัฒนาเครื่องทอโลหะ โดยประยุกต์จากเครื่องทอเสื่อจันทบูร ในการใช้เส้นโลหะเป็นวัสดุในการทอเพื่อให้เกิดลวดลายเฉพาะ อันนำไปสู่การพัฒนารูปแบบเครื่องประดับที่มีเอกลักษณ์สะท้อนวัฒนธรรมท้องถิ่น และเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนด้วยแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์
ผลการวิจัย พบว่า วัสดุที่เหมาะสมในการผลิตเครื่องทอโลหะ เป็นวัสดุเหล็ก ที่มีความ แข็งแรง ทนทาน ง่ายต่อการผลิต โดยมีข้อคิดเห็นเพื่อการพัฒนา เช่น เรื่องระบบการทอให้มีความสะดวกรวดเร็วขึ้น ควรมี ระบบรองรับการใช้งานที่สามารถเปลี่ยนอะไหล่เครื่องทอได้พัฒนาด้านความอ่อนแข็งของโลหะ รวมถึงขนาดและรูปแบบเส้นลวดให้มีความหลากหลายขึ้น รวมไปถึงการศึกษาและพัฒนาเพื่อป้องกันการเกิดออกไซด์บนเส้นโลหะหรือชิ้นงานทอ และพัฒนาต่อยอดให้มีสีของโลหะที่มากขึ้นเพื่อทอให้เกิด ลวดลายและสีสันในการนำไปใช้งาน” นายสุเมธ กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับ โทรศัพท์ : 02-634-4999 ต่อ 451-454 อีเมล [email protected]
