สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจ (สสว.) เปิดตัวโครงการพัฒนาผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับ 5 ภาค อันได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคตะวันตก เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับ ให้มีทักษะในด้านต่างๆ และนำความรู้ที่ได้ไปใช้พัฒนาธุรกิจ และพร้อมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบัน กล่าวว่า ตามแผนการดำเนินงานของโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ 5 ภาค GIT มีกำหนดเดินทางลงพื้นที่ทั้ง 5 ภาค เพื่อจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการแก่กลุ่มผู้ประกอบการ แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โรคระบาด Covid-19 ทำให้ สถาบันปรับการดำเนินงานเป็นรูปแบบออนไลน์เต็มรูปแบบเพื่อรองรับกลุ่มผู้ประกอบการให้สามารถเข้าร่วมงานได้อย่างปลอดภัย
สถาบัน เล็งเห็นว่า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับมีผู้ประกอบการมากกว่า 12,000 ราย ในจำนวนดังกล่าว กว่าร้อยละ 80 เป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตให้กับบริษัท หรือผู้ประกอบการอื่น เพื่อจัดจำหน่ายในแบรนด์ของผู้ว่าจ้างผลิต หรือที่เรียกว่า Original Equipment Manufacturer (OEM) หากผู้ประกอบการต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยให้สูงขึ้น รวมถึงยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย การเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมจากการเป็นผู้รับจ้างผลิต ไปสู่การเป็นผู้ประกอบการที่มีรูปแบบสินค้าของตนเอง หรือ Original Design Manufacturer (ODM) จนกลายเป็นผู้ประกอบการที่มีแบรนด์เป็นของตนเอง Original Brand Manufacturer (OBM) ย่อมเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย รวมถึงส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมวลรวมประเทศซึ่งที่ผ่านมาสถาบันได้ดำเนินการเร่งพัฒนายกระดับผู้ประกอบการไทยมาโดยตลอดกว่า 10 ปีที่สร้างผู้ประกอบการรายใหม่ที่ประสบผลสำเร็จ และมีแบรนด์เป็นของตนเอง
ในปีนี้ สถาบันได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับ ทั้ง 5 ภาค ในภูมิภาคต่างๆ ทั้งภาคเหนือ (มุ่งเน้น จังหวัดเชียงใหม่-สุโขทัย) ภาคกลาง (กรุงเทพฯ) ภาคตะวันออก (จันทบุรี) ภาคใต้ (นครศรีธรรมราช) และภาคตะวันตก (กาญจนบุรี) โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับยุคใหม่ อันได้แก่ ทายาทธุรกิจ ช่างฝีมือ นักออกแบบ และเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปที่สนใจเข้าสู่วงการธุรกิจ อัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งโครงการนี้จะเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านเทคนิคการผลิต การใช้วัสดุทดแทนเพื่อสร้างความแตกต่างและมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า 2.ด้านการออกแบบ การหาเอกลักษณ์ให้กับสินค้าเครื่องประดับ 3.ด้านการบริหารจัดการ การจัดการต้นทุนวัตถุดิบ การจัดทำบัญชี การยื่นภาษี การบริหารธุรกิจ และ 4.ด้านการตลาด เพิ่มความรู้เกี่ยวกับการตลาด และการทำธุรกิจ e – Commerce
โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมการอบรมในรูปแบบออนไลน์ ครั้งนี้รวมกว่า 200 ราย ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย สถาบันหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการ 5 ภาคจะก่อให้เกิดประโยชน์เป็นรูปธรรมแก่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศไทย ต่อไป