Venture Global LNG ขอสินเชื่อเงินกู้ระยะยาว 500 ล้านดอลลาร์จากธนาคารชั้นนำระดับโลก

บริษัท Venture Global LNG, Inc. ประกาศว่า บริษัทได้บรรลุข้อตกลงการขอสินเชื่อเงินกู้ระยะยาว 500 ล้านดอลลาร์จากธนาคารชั้นนำระดับโลกอย่าง JPMorgan Chase Bank, N.A., Morgan Stanley Senior Funding, Inc, Mizuho Bank, Ltd. และ Bank of America N.A. โดยเงินที่ได้มาจะนำไปใช้สนับสนุนกิจกรรมการก่อสร้างก่อนการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (pre-FID) ณ โครงการสถานีส่งออกก๊าซ Plaquemines LNG ของบริษัท รวมถึงใช้ในวัตถุประสงค์ทั่วไปขององค์กร โดยวงเงินสินเชื่อเพิ่มขึ้นจากเดิม 400 ล้านดอลลาร์เป็น 500 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ปล่อยสินเชื่อ

ไมค์ ซาเบล ซีอีโอของบริษัท กล่าวว่า “เรารู้สึกภูมิใจที่ได้เดินหน้าสร้างความร่วมมือกับธนาคารชั้นนำเหล่านี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการสถานีส่งออกก๊าซ Calcasieu Pass LNG ของเรา ในขณะที่เรากำลังเดินหน้าก่อสร้างโครงการ Plaquemines LNG อย่างเต็มรูปแบบในปีนี้ โดยเราจะใช้กลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จมาก่อนหน้านี้ เพื่อเดินหน้าบรรลุพันธกิจของเราในการส่งมอบก๊าซแอลเอ็นจีที่มีต้นทุนต่ำที่สุดให้แก่ตลาดทั่วโลก และตอบสนองความต้องการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดที่กำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก”

โครงการ Plaquemines LNG ได้ทำสัญญาขายก๊าซแอลเอ็นจี 3.5 ล้านตันต่อปี จากกำลังการผลิตทั้งหมด 10 ล้านตันต่อปีในเฟสแรก ภายใต้สัญญาแบบมีผลผูกพันระยะเวลา 20 ปี โดยได้รับการรับรองขั้นสุดท้ายจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติของสหรัฐ (FERC) และได้รับการอนุญาตให้ส่งออกจากกระทรวงพลังงานสหรัฐ (DOE)

JPMorgan และ Morgan Stanley ร่วมกันดำเนินการปล่อยสินเชื่อครั้งนี้ โดยมี Bank of America และ Mizuho เข้าร่วมในฐานะผู้ปล่อยสินเชื่อ ขณะที่ Davis Polk & Wardwell LLP และ Simpson Thatcher & Bartlett LLP เป็นที่ปรึกษาของผู้ขอสินเชื่อและผู้ปล่อยสินเชื่อตามลำดับ

เกี่ยวกับ Venture Global LNG

Venture Global LNG คือผู้จัดจำหน่ายก๊าซแอลเอ็นจีต้นทุนต่ำในระยะยาวจากแหล่งก๊าซธรรมชาติในอเมริกาเหนือที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างหรือพัฒนาสถานีส่งออกก๊าซขนาดรวมกว่า 50 ล้านตันต่อปีในรัฐลุยเซียนา เพื่อส่งออกพลังงานสะอาดในราคาย่อมเยาไปทั่วโลก สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.venturegloballng.com

ที่มา: พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์