ศ. ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ อันดับ 1 ในไทย ประเภทภาพรวมนักวิชาการจากการเก็บข้อมูลในช่วงระยะเวลา 5 ปีในทุกสาขาวิชา และประเภทสถาบัน มจธ. เป็นอันดับ 10 ของโลก ด้าน Life-cycle Assessment จากการจัดอันดับของ ScholarGPS™ World Rankings

ในเดือนพฤษภาคม 2567 ScholarGPS™ World Rankings ได้มีการประกาศผลการจัดอันดับจากการประเมินผลงานวิจัยของนักวิชาการทั่วโลกในสาขาวิชาต่างๆ โดยแบ่งเป็น การจัดอันดับสำหรับนักวิชาการ (Scholar Rankings) และการจัดอันดับสำหรับสถาบัน หน่วยงาน องค์กร (Institutional Rankings) โดยจะถูกประเมินใน 4 กลุ่ม คือ 1) ภาพรวมทุกสาขา (Overall- All Fields) 2) กลุ่มสาขาวิชา (Fields) 3) กลุ่มรายวิชา (Disciplines) และ 4) กลุ่มสาขาวิชาเฉพาะทาง (Specialties)โดยตัวชี้วัดที่ใช้ในการประเมินเพื่อจัดอันดับ ได้แก่ ผลผลิต วัดจากจำนวนผลงานตีพิมพ์ที่ถูกเก็บถาวร (Productivity- archival Publication Count) ผลกระทบ วัดจากจำนวนการอ้างอิง (Impact-citation Count) คุณภาพ วัดจาก h-index (Quality – (h-index)) และการจัดอันดับ ScholarGPS™ Ranks คำนวนจากค่าเฉลี่ยของคะแนนผลผลิต ผลกระทบ และคุณภาพ
โดยแต่ละตัวชี้วัดจะพิจารณาในรายละเอียดด้วยกรอบการพิจารณา 3 กรอบ คือ 1) ระยะเวลา (Duration) พิจารณาจากผลงานตีพิมพ์ตลอดชีวิต หรือผลงานตีพิมพ์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา 2) การให้เครดิตการมีส่วนร่วมของผู้เขียน (Author Contribution Credit) พิจารณาโดยไม่ถ่วงน้ำหนักตามจำนวนผู้เขียน หรือถ่วงน้ำหนักจำนวนผลงานตีพิมพ์และการอ้างอิงของผู้เขียนตามจำนวนผู้เขียนในผลงานนั้น และ 3) การนับรวมการอ้างอิง (Citation inclusion) พิจารณาโดยรวมการอ้างอิงทั้งหมด หรือไม่รวมการอ้างอิงตนเอง (การอ้างอิงจากผลงานตีพิมพ์โดยผู้เขียนคนเดียวกัน)
รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า “เป็นที่น่ายินดีกับผลการจัดอันดับของ มจธ. ที่เป็นดอกผลจากการที่คณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนได้ร่วมมือร่วมใจกันสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่มีคุณค่าและมีผลกระทบสูงต่อทั้งสังคม ประเทศ และในระดับโลกออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยผลการจัดอันดับสำหรับสถาบัน หน่วยงาน องค์กร (Institutional Rankings) มจธ. เป็นอันดับ 10 ของโลก กลุ่มรายวิชา (Disciplines) ภาพรวมการดำเนินงานระยะเวลา 5 ปี ก่อนหน้า (ปี 2018-2022) ด้านการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ หรือ Institutional Rankings – prior Five Years Global Specialties in Life-cycle Assessment นับเป็นอันดับที่ดีที่สุดของ มจธ. ได้รับการจัดอันดับตามสาขา (Fields) ใน 2 สาขาวิชา คือ Engineering and Computer Sciences อันดับที่ 631 ของโลก และสาขาวิชา Life Sciences อันดับที่ 635 ของโลก การจัดอันดับตามแขนงวิชา (Disciplines)
มจธ. ติดอันดับโลก 1 แขนงวิชา คือ Mechanical Engineering ในอันดับที่ 205 จึงขอแสดงความชื่นชมในการอุทิศตนของคณาจารย์ในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยคุณภาพระดับนานาชาติ โดยได้สร้างผลกระทบต่อทั้งแวดวงวิชาการและต่อสังคม”ScholarGPS™ World Rankings สถาบันการจัดอันดับจากสหรัฐอเมริกา ดำเนินการโดย Meta Analytics LLC. เป็นหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูลและบรรณมิติ (Bibliometrics) โดยนําเอาข้อมูลจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีข้อมูลสิ่งพิมพ์ที่ถูกเก็บถาวรกว่า 200 ล้านรายการ เช่น บทความวารสาร หนังสือ บทความในงานประชุมวิชาการ และสิทธิบัตร ที่ได้รับการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันอย่างต่อเนื่องจากทั่วโลกมาวิเคราะห์ทางสถิติอย่างเป็นระบบเพื่อใช้วัดคุณภาพของงานวิจัย
รวมไปถึงใช้วัดความสามารถในการผลิตงานวิจัยของนักวิจัยและสถาบันต่าง ๆ และสามารถสร้างบัญชีข้อมูลนักวิชาการที่มีข้อมูลเชิงลึกหลากหลายมิติ ครอบคลุมข้อมูลนักวิชาการทั้งจากภาคการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐ มากกว่า 30 ล้านคน จากสถาบัน หน่วยงาน และองค์กรต่างๆ กว่า 55,000 แห่ง นอกเหนือจากโปรไฟล์ของนักวิชาการแต่ละคนแล้วนั้น ฐานข้อมูลของ ScholarGPS™ ยังจัดเก็บผลงานวิจัยของหน่วยงานด้านวิชาการกว่า 15,000 แห่ง ในกว่า 200 ประเทศทั่วโลก โดยแบ่งหมวดหมู่กิจกรรมทางวิชาการออกเป็น 14 สาขาหลัก (Fields) อาทิ แพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ นิติศาสตร์ ศิลปศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังแบ่งย่อยสาขาเหล่านั้นออกเป็น 177 กลุ่มรายวิชา (Disciplines) ที่สอดคล้องกับภาควิชาการทั่วไป และมีฐานข้อมูลที่โดดเด่นซึ่งแบ่งแยกอย่างละเอียดอีกขั้น คือ สามารถแบ่งสาขาวิชาเฉพาะทาง (Specialties) ออกเป็นกว่า 350,000 สาขาวิชาเฉพาะทาง
